วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

Popular culture และตัวตน







Popular culture



ในคำแปลภาษาไทยนั้นมีหลากหลายคำด้วยกันไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมสมัยนิยม, วัฒนธรรมป๊อป, วัฒนธรรมมวลชน, วัฒนธรรมประชานิยม, วัฒนธรรมประชาชน. กระแสป๊อป หรือแม้แต่การใช้ทับศัพท์คำว่า ป๊อป-คัลเจอร์ ซึ่งในความหมายของคำเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยกิจกรรม ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราที่สังคมให้ความนิยมชมชอบ แทบทุกกระแสที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมากโดยการนำเสนอของสื่อมวลชน หรือสินค้า และบริการยอดนิยม ที่อยู่รายรอบตัวเรา ล้วนจัดเข้าข่ายนิยามของวัฒนธรรมสมัยนิยม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม, เพลงป๊อป, ดนตรี, ละคร, แฟชั่น, ศิลป, งานเขียนต่างๆ ที่อยู่ในกระแสนิยมจันทรา มุเกอร์จี และไมเคิล ชุดสัน (Chandra Mukeji and Michael Schudson) กล่าวว่า วัฒนธรรมสมัยนิยม หมายถึงความเชื่อและปฏิบัติการรวมถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับหรือการนิยามอย่างแพร่หลาย โดยประชากรกลุ่มหนึ่ง และนันทขว้าง ศิริสุนทร ได้กล่าวเอาไว้ว่า ป๊อป คัลเจอร์ต้องเป็นสิ่งที่มหาชนนิยม เป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมชนชั้นสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นของที่นิยมได้ทุกชนชั้น และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอลิซาเบธ จี. เทราบี (Elizabeth G. Traube) กล่าวว่า "popular culture" เริ่มใช้ในยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยโจฮันน์ กอตต์ปรายด์ เฮอร์เดอร์ (Johann Gottfried Herder) ซึ่งได้จำแนกวัฒนธรรมออกเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง (high culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของผู้ที่มีการศึกษา เป็นวัฒนธรรมแห่งเหตุผล และวัฒนธรรมชั้นต่ำ (low culture) หรือวัฒนธรรมป๊อป คือวัฒนธรรมไร้เหตุผล ใช้ความรู้สึกดั้งเดิม แม็ทธิว อาร์โนลด์ (Mathew Arnold) ผู้สร้าง Culture and Anarchy งานชิ้นบุกเบิกของวัฒนธรรมป๊อป ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความปั่นป่วนอนาธิปัตย์ และภาวะแห่งความไร้ระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคม จอนห์ ฟิสเก้ (John Fiske) ได้กล่าวเกี่ยวกับแนวทางในการศึกษาวัฒนธรรมสมัยนิยมเอาไว้ว่าประกอบไปด้วย 3 แนวทางได้แก่



1. พิจารณาวัฒนธรรมสมัยนิยมจากตัวแบบของการประนีประนอม (a consensual model) มองเห็นวัฒนธรรมสมัยนิยมว่า เป็นเพียงพิธีกรรมของการจัดการความแตกต่างและความตึงเครียดทางวัฒนธรรม และในที่สุดก็จะจบลงด้วยความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมร่วมกันของคนในชาติ



2. พิจารณาวัฒนธรรมสมัยนิยมจากตัวแบบของอำนาจ (a model of power) มองเห็นวัฒนธรรมสมัยนิยมว่าเป็นการกดบีบ การบังคับครอบงำมวลชนหรือกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ และอยู่ในฐานะที่ไม่อาจต่อรองได้ในอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ



3. พิจารณาวัฒนธรรมสมัยนิยมในฐานะที่เป็น "สนามของการต่อรองช่วงชิง (a site of struggle) มองเห็นกระบวนการต่อรอง สร้างสรรค์และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่คนในสังคมใช้ในการรับมือหรือสร้างความหมายทางสังคมให้กับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของตนการวิเคราะห์ตัวตนในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยมการวิเคราะห์ตัวตนในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยมนั้น สามารถแบ่งการพิจารณาออกเป็น 5 ลักษณะ คือ (พัฒนา กิติอาสา, 2546, 46)



1. ตัวตนได้จากการเสพสื่อ มีประสบการณ์ผ่านสื่อแล้วนำมาสร้างความเป็นตัวตนให้กับตนเอง



2. ตัวตนเกิดในโลกความจริงเหนือความจริง โดยสื่อมักเป็นผู้สร้างความจริงเหล่านั้น เช่น ผู้หญิงสวยมักต้องมีสัดส่วนที่ผอมบาง



3. ตัวตนที่ถูกแยกย่อย เช่น กลุ่มเกย์ กลุ่มเด็กเซ็นเตอร์พ้อยท์



4. ตัวตนที่อยู่ในโลกที่ขัดแย้งกัน อันเกิดจากการสร้างความหมายที่ขัดแย้งกัน เช่นผู้หญิงต้องเป็นทั้งแม่ และเป็นสาวเปรี้ยวในกลุ่มเพื่อน



5. ตัวตนในโลกแห่งสุนทรียะที่มีระดับแยกไปตามอำนาจที่ผู้อื่นเป็นผู้กำหนด เช่นคนมีเงินดูหนังโรงชั้นหนึ่ง ผู้ใช้แรงงานดูหนังควบตามโรงสองชั้นการสร้างความหมายให้กับตนจึงอาศัยการตีความ การเลือกเปิดรับสื่อ รูปร่างลักษณะภายนอกของตน จังหวะ โอกาส และสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ มาประกอบการสังเคราะห์เป็นตัวตนของคนแต่ละคนให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตัวตน เพศสภาพ สัญชาติ สถานะทางสังคม และความหมายที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวตนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามยุคสมัยและบริบทของสังคมวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ และคณะ(อ้างในพัฒนา กิติอาสา, 2546, 49)ได้นำเสนอว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของการสร้างตัวตนในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม ประกอบด้วยกลวิธี 7 อย่าง ได้แก่



1. การใช้คำขวัญ หรือคำสั้น ๆ ที่จำง่ายซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้คนสนใจ



2. การตราหน้า การทำให้คนตัดสินใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ใช้เหตุผลประกอบ



3. การเหมารวม การทำให้คนเกิดความรู้สึกดีหรือประทับใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยปราศจากการวิเคราะห์ ตรวจสอบ



4. การถ่ายโอนสัญลักษณ์ เป็นการใช้สัญลักษณ์ของสิ่งที่น่าเชื่อถือ เป็นที่เคารพมาเพื่อถ่ายโอนลงสู่อีกสิ่งหนึ่ง



5. การแห่ตาม การกระตุ้นความรู้สึกอยากมีพวกพ้อง ความเห็นด้วย



6. ความดึงดูดทางเพศ(sex appeal) การกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้คนหันมาสนใจ



7. เสียงดนตรี การนำเพลงประกอบ ทำให้รู้สึกคล้อยตาม และจดจำได้ง่าย
อ้างอิง : ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา เรื่อง พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตนบนไซเบอร์สเปซ ของ เอมอร ลิ้มวัฒนา นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเผยแพร่ใน เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1059(เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙)






ปรากฏการณ์ของค่านิยมมวลชนที่มีความสัมพันธ์กับผลประโยชน์ตามระบบทุนนิยม อันมีเหตุมาจากความเป็น สากลของโลกจากฝั่งตะวันตกที่แทรกซึมลงไปตามพื้นที่สังคมเปิดต่างๆ ผ่านกระแสของสื่ออันเป็นเครื่องมืออย่างดีของระบบทุนนิยม ในลักษณะการถ่ายทอด ผลิตซ้ำ แพร่กระจาย โดยเฉพาะในด้านการอุตสาหกรรม การพาณิชย์ รวมไปถึงการบริโภคในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมแนวใหม่ขึ้นมา ซึ่งวัฒนธรรมที่ว่าคือ Popular Culture วัฒนธรรม Pop ที่ว่านี้ไม่ใช่ทฤษฎีที่มีระบบความคิดที่ตายตัว หากเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีการพลวัตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบตามแต่แนวนิยมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคสมัย และได้รับการทำความเข้าใจในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามแต่มุมมองของนักวิชาการในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สื่อสารมวลชน หรือมานุษยวิทยา ที่ตั้งชุดคำถามขึ้นมาวิเคราะห์ร่วมกับผลผลิตจากระบบทุนนิยมอันส่งผลกระทบสืบเนื่องมาถึงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศาสตร์ที่ตนศึกษา อ้างอิง : thesis เรื่อง The Comparative Study of the Adapted Versions of Sangthong in Popular CultureWikipedia พูดถึงวัฒนธรรมป๊อปเอาไว้ว่า “Pop culture” can also be defined as the culture that is “left over” when we have decided what “high culture” is.วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะ Pop Culture จากฝั่งอเมริกันมหาศาล เอลวิส เพรสลีย์, แจกกาลีน เคนเนดี้, จอห์น เวย์น, อลิซาเบธ เทย์เลอร์ เป็นอาทิ วัฒนธรรมเหล่านั้นหลั่งไหลมาในรูปแบบภาพยนตร์ ข้าวโพดคั่ว ดนตรีร็อก ทรงผม แฟชั่นเสื้อผ้า รูปแบบการใช้ชีวิต ความรุนแรงของวัฒนธรรมอเมริกันชนแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ไม่เฉพาะในเอเชีย ชันชนะของวัฒนธรรมป๊อป โหมกระพืออย่างรวดเร็ว เพราะเข้าถึงประชาชนอย่างง่ายดาย ประกอบกับวัยหนุ่มสาวมีอิสรเสรีที่จะคิดและทำได้มากขึ้น การศึกษาที่สูงขึ้นทำให้มนุษย์มีอิสระที่จะเลือก มีสิทธิที่จะดำเนินชีวิตตามครรลองของตนเอง โดยปราศจากการชี้นำจากรัฐบาลหรือจากครอบครัว กลิ่นหอมหวนของวัฒนธรรมป๊อปคือความหมายของเสรีภาพ เมื่อมันเดินทางไปสู่ประเทศที่เคร่งครัดต่อจารีต และมีรูปแบบที่ชัดเจน ย่อมถูกต่อต้านจากชนชั้นนำอย่างไม่ต้องสงสัย ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต่อต้าน Pop Culture อย่างหนัก โดยเฉพาะยุคปัจจุบัน การก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรม จึงเกิดขึ้นเพื่อกลายเป็นป้อมพระกาฬต่อสู้กับการรุกรานทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเผยแพร่วัฒนธรรมยุคใหม่ไปยังประเทศหนึ่งใช้เวลาน้อยลง การสื่อสารที่รวดเร็วของข่าวสารใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที รายการโทรทัศน์ได้แผ่ขยายสัญญาณไปจนถึงขอบโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเรายังติดตามสถานีโทรทัศน์ CNN, MTV และ BBC ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลาจนยากที่จะตกสมัย อินเทอร์เน็ตทำให้การสนทนาข้ามประเทศ เปิดไปสู่ประตูและชุมชนโลกได้เพียงคลิกเดียว จึงไม่แปลกที่ชนชั้นนำจะต่อต้าน Pop Culture ทั้งที่ชนชั้นนำในยุคหนึ่งก็เดินตามวัฒนธรรมยุโรป และมองวัฒนธรรมยุโรปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมมองว่าการต่อต้าน Pop Culture สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามานั้น มิได้รับการชี้นำจากกลุ่มชนชั้นสูงอีกต่อไป การสูญเสียอำนาจชี้นำเป็นเรื่องที่หนักหนาต่อระบบแนวคิดการปกครอง เมื่อประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกได้อย่างอิสระ ย่อมทำให้การปกครองประเทศยากขึ้นไปด้วยนั่นเอง
อ้างอิง: นิวัติ พุทธประสาท จาก ART gazine Community

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น