วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

ทรรศนะที่น่าสนใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรม Pop Culture





















ยังมีทรรศนะที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ วัฒนธรรม Pop Culture เช่น จาก thesis เรื่อง The Comparative Study of the Adapted Versions of Sangthong in Popular Culture ว่า...



ในภาษาไทยยังไม่มีการบัญญัติคำว่า Popular Culture ที่แน่นอน จึงพบว่าในการศึกษา หรืองานวิจัยต่างๆมีการใช้คำทับศัพท์ หรือบัญญัติศัพท์ Popular Culture ใช้กันอย่างหลากหลายเช่น คำว่า ป๊อป คัลเจอร์ (นันทขว้าง สิรสุนทร,2545) วัฒนธรรมสมัยนิยม (วิริยะ สว่างโชติ ,2542) วัฒนธรรมสมัยนิยม หรือกระแสป๊อป (พัฒนา กิติอาสา,2547) วัฒนธรรมประชานิยม (เปรม สวนสมุทร,2547) วัฒนธรรมป๊อป,วัฒนธรรมกระแสนิยม (ฐิรวุฒิ เสนาคำ,2549) ประเด็นหนึ่งที่นำมานิยามความหมายของวัฒนธรรมประชานิยม คือ วัฒนธรรมนี้ถูกตั้งไว้ในฝั่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมชั้นสูง เพราะความยึดมั่นใน "วาทกรรม" ของวัฒนธรรมหลักที่สถาปนาขึ้น การสร้างวาทกรรมสถาปนาวัฒนธรรมหลัก และกฎเกณฑ์ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ทำให้วัฒนธรรมประชานิยมซึ่งเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีเนื้อหาไม่เป็นไปตามวัฒนธรรมหลักถูกตัดสินว่าเป็นวัฒนธรรมชั้นต่ำ ด้อยค่า และบ่อนทำลาย หรือเรียกได้ว่าถูกกระทำผ่านกระบวนการทางวาทกรรมให้เป็นตัวแทนความเป็นอื่นทางวัฒนธรรม (representations of cultural otherness) ซึ่งความคิดนี้ถือเป็นความคับแคบและอคติของกระบวนทัศน์วัฒนธรรม สำหรับการรับเอาวัฒนธรรมประชานิยมเข้ามาในสังคมไทยนั้น มักมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยตั้งข้อสังเกตร่วมกับบทบาทของสื่อ ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเผยแพร่ และสร้างความนิยมให้แก่ประชาชน โดยสื่อถูกเชื่อมโยงเข้ากับระบบทุนนิยม วัฒนธรรมถูกแปรสภาพในรูปแบบของสินค้า ผ่านกระบวนการผลิตที่ไตร่ตรองโดยผู้ผลิตว่าตอบสนองอุปทานของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย แล้วจึงนำเสนอสินค้าทางวัฒนธรรมนั้นผ่านสื่อ ทำให้ผู้บริโภคได้ทำความรู้จักกับสินค้าต่างๆ ก่อเกิดทางเลือกและรสนิยมในการบริโภค จากสมมติฐานของนักวิชาการสายสื่อสารมวลชนอย่างภัทร ด้านอุตรากล่าวไว้ว่า กำเนิดของสื่อที่มีลักษณะเป็นสื่อมวลชน นับเป็นปัจจัยที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง popular culture กับวัฒนธรรมชาวบ้าน ดังนั้นจึงพอถือได้ว่า การตั้งโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์นับเป็นการเกิดปรากฏการณ์ popular culture เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ จุดเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดว่า popular culture ได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยคือ การเกิดคำว่า "เชย" อันมีที่มาจาก "ลุงเชย" ในหัสนิยายชุดสามเกลอ ของป.อินทรปาลิต เพราะการยอมรับความหมายของคำใหม่อย่างคำว่า "เชย"ในช่วงปีทศวรรษ 2480 ย่อมแสดงถึงการแบ่งแยกรสนิยมทางวัฒนธรรม ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับ popular culture เข้ามาในประเทศไทยก็คือ หนังสือสองเล่มของหม่อมราโชทัย อันได้แก่ "จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ" และ "นิราศลอนดอน" ซึ่งเป็นที่นิยมจนเกิดการซื้อขายลิขสิทธิ์นั้น ล้วนมีนัยยะของการรับวัฒนธรรมต่างประเทศ และยังมีสื่อภาพยนตร์ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ยุคนั้นเรียกว่า "cinematograph" ที่ฉายครั้งแรกที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการในปีพ.ศ.2441 ก็เป็นประดิษฐกรรมล้ำยุคจากต่างประเทศ รวมทั้งภาพที่ฉายก็เป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่วรรณกรรมชุดสามเกลอก็มีหลายองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นพฤติกรรม และรสนิยมของชาวกรุงผู้มีอันจะกินรุ่นใหม่ ซึ่งมักใช้ชีวิตอย่างชาวตะวันตก หรือได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น การศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยมเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พัฒนาการทางความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยม(popular culture) ได้ถูกนำไปผูกติดกับการต่อสู้แข่งขันเพื่อช่วงชิงความหมายและการตีความซึ่งมีมาก่อนแล้ว และได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการโต้แย้งกันต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมมวลชน(mass culture) ผ่านกลไกทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับระบบทุนนิยม ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมประชานิยมผูกพันอยู่กับประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอิสระที่จะเรียกร้อง ต่อรอง ต่อสู้ หรือกระทำการใดๆภายใต้สิทธิอันชอบธรรม จึงเกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิด ตลอดจนการพยายามครอบงำ และพยายามปลดเปลื้องตนเองจากการถูกครอบงำ และโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ขณะนี้วัฒนธรรมประชานิยม หรือ populalr culture ได้เข้ามาฝังรากลึกอยู่ในปริมณฑลชีวิตของเราๆท่านๆที่ดำเนินไปตามกระแสกันทุกเมื่อเชื่อวัน ใครที่ยังไม่แจ้งใจว่าแล้วตกลงมันคืออะไรและมาจากไหนกันแน่ แนะนำให้ลองกลับไปสังเกตเพลงที่คุณฟัง หนังที่คุณดู เสื้อผ้าที่คุณใส่ หรือแม้แต่อะไรต่อมิอะไรที่คุณกินคุณดื่ม สิ่งที่ผูกร้อยอยู่กับวิถีชีวิตแล้วสถาปนาคุณขึ้นมาในฐานะผู้เสพผู้บริโภคเหล่านี้ล้วนหลอมรวมกันเป็นคำจำกัดความของ popular culture






ท้ายสุดขออ้างอิงบทความของ นิวัติ พุทธิประสาท เกี่ยวกับ วัฒนธรรม Pop Culture ในประเทศไทย... สำหรับประเทศไทย อิทธิพลวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่น-ฮีโร่มนุษย์แปลง ได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งหนังสือและภาพยนตร์ โดยเฉพาะการ์ตูนในยุคบุกเบิกอย่างโดราเอมอน นินจาฮาโตริ คาเมนไรเดอร์ อุลตราแมน ได้ทำให้ภาพของวัฒนธรรมญี่ปุ่นใกล้ชิดและเข้าถึงคนไทยได้อย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นทรงอิทธิพลไม่เฉพาะวัฒนธรรม แต่การขยายอาณาเขตธุรกิจก็รุนแรงไม่แพ้กัน เมื่อประเทศไทยต้องการการลงทุนทางอุตสาหกรรม และญี่ปุ่นต้องการแรงงานราคาถูกลงเพื่อส่งออกสินค้าของตน แต่ความสำเร็จในการแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นในสังคมไทยก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะปัจจุบันสังคมไทยไม่ได้รับอิทธิพลด้านเดียวเหมือนก่อน ทว่าได้รับอิทธิพลจากหลากหลายแหล่ง กลุ่มคนที่รับวัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แม้ฝ่ายชนชั้นนำของสังคมไทยจะมองว่า กระแสอิทธิพลการ์ตูนญี่ปุ่นได้ครอบครองแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่แล้วก็ตาม ถ้ามองในแง่ความเป็นจริง การ์ตูนญี่ปุ่นไม่ได้นำเสนอแต่เพียงการ์ตูนสำหรับเด็ก ทว่าในญี่ปุ่นการ์ตูนเป็นภาพสะท้อนของสังคม และการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องก็มีคุณค่าทางสังคมไม่แพ้วรรณกรรมดีๆ สักเรื่อง ภาพการต่อต้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงเบาบางกว่ามาก กระนั้นเลยถ้ามองภาพวัฒนธรรมป๊อปในสังคมไทย ซึ่งเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นว่าการต่อต้านวัฒนธรรมอื่นมิสามารถทำได้ จากวัฒนธรรมญี่ปุ่น ใครจะรู้ว่าวัฒนธรรมเกาหลีเข้าสู่สังคมไทยได้อย่างรวดเร็วเพียงข้ามปี หากเฝ้ามองอย่างละเอียด เราจะพบว่าวัฒนธรรมเกาหลีเองก็มีเส้นทางเดินตามรอยวัฒนธรรมญี่ปุ่น เริ่มจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างค่าย SAMSUNG ได้ผลิตมือถือ โทรทัศน์จอพลาสมา แอลซีดี เครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าของ SAMSUNG มิได้ผลิตเพื่อขายในเอเชียเท่านั้น แต่ตลาดยุโรปและอเมริกากลายเป็นตลาดใหญ่ นอกจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เกาหลียังนำร่องในเรื่องวัฒนธรรมด้วยภาพยนตร์ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง การลงทุนในเรื่องภาพยนตร์ของเกาหลีไม่สูญเปล่า เพราะทำให้โลกรู้จักเกาหลีดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ นอกจากภาพยนตร์แล้วหนังชุดของเกาหลีอย่างแดจังกึม ก็สร้างความประทับใจให้คนดูจนเกิดปรากฏการณ์ทำให้คนอยู่ติดบ้านเพื่อรอดูหนังชุดนี้โดยไม่ไปไหน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นอกจากนั้นศิลปินนักร้องเกาหลีอย่างเรน ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากแฟนเพลง การเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยแม้จะอยู่ในบรรยากาศการรัฐประหาร ทว่าผู้คนก็ไปชมการแสดงกันจำนวนมาก หากมองด้วยภาพดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่าการแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมนั้นไม่มีวันหยุด ไม่มีวันปิดกั้น ไม่มีทางชี้นำ วัฒนธรรมเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตที่ไหลไปตามลมหายใจของผู้คน แน่นอนชนชั้นนำหวาดกลัวการถูกกลืนกินทางด้านวัฒนธรรม กลัวการสูญสลายทางสังคมของตน ความหวาดกลัวดังกล่าวจึงต้องสร้างเกราะป้องกันตัวในรูปแบบของการปกป้อง แต่อย่าลืมว่าวัฒนธรรมที่สูญสลายไปในอดีตก็เพราะว่าไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับใช้ปัจจุบัน หากเราต้องการรักษาอดีตที่ยิ่งยงของตนบนพื้นที่ชีวิตสมัยใหม่ การปรับตัวจะต้องเข้มข้นถึงขั้นปิดประเทศ กระนั้นเลยการรับวัฒนธรรมอื่นมาสู่สังคมไทย ก็มิได้เลวร้ายหรือเป็นการทำลายชาติอย่างที่ชนชั้นนำนิยาม ...Pop Culture คือสีสันของยุคสมัยใหม่ เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง แต่กระนั้นเราต้องรู้เท่าทันและเข้าใจมันในเนื้อแท้ มิใช่เปลือกนอกที่กลวงเปล่า เพราะถ้าเราอยู่ในความเปลือยเปล่า เราเองนั่นแหละที่จะถูกปั่นให้เป็นผุยผง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น